สายตาสั้น (Myopia) เป็นการผิดปกติทางด้านสายตาชนิดหนึ่ง โดยอาการหลักๆคือ เมื่อเราใช้ตาของเรามองไปในระยะไกล ซึ่งไกลในที่นี้ในทางทฤษฎีคือระยะไกลกว่า 6 เมตรขึ้นไป หรือทางเทคนิคเรียกว่าระยะอนันต์หรือระยะอินฟินิตี้ (infinity) ซึ่งการใช้สายตาในลักษณะนี้ กระบวนการทำงานของตาเราจะอยู่ในโหมดผ่อนคลายไม่มีการเพ่งใดๆ เมื่อเราใช้สายตาในลักษณะนี้แล้วแสงที่เดินทางผ่านระบบการหักเหแสงของตาเราแล้วเกิดจุดรวมแสงหรือจุดโฟกัส สั้นกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้จุดโฟกัสมาตกอยู่ก่อนถึงจอประสาทตาหรือเรติน่าซึ่งเป็นจอรับภาพที่แสงควรจะตกบริเวณนี้พอดีสำหรับบุคคลที่มีสายตาปกติ แต่พอตกสั้นไปแบบนี้ทำให้เกิดอาการมองไม่ชัดหรือเราเรียกกันง่ายๆว่าสายตาสั้น นั่นเอง
ทั้งนี้สาเหตุในการเกิดสายตาสั้น มี 3 สาเหตุหลักๆคือ
1. Axial Myopia เกิดจากโครงสร้างขนาดของลูกตา ซึ่งปกติแล้วขนาดลูกตาเมื่อโตเต็มวัยแล้วควรจะอยู่ที่ 24 มิลลิเมตร แต่คนที่มีสายตาสั้นมักจะมีขนาดลูกตายาวกว่าปกติ ทำให้แสงที่จุดโฟกัสไปไม่ถึงจอประสาทตา ซึ่งสายตาสั้นชนิดนี้เป็นชนิดที่พบเจอบ่อยที่สุด
2. Curvature Myopia เกิดจากความโค้งของผิวกระจกตาหรือเลนส์ตา ที่มีความโค้งมากกว่าปกติ ทำให้แสงที่ผ่านมายังกระจกตาหักเหมากกว่าปกติ แสงที่มารวมกันที่จุดโฟกัสจึงมาตกสั้นกว่าปกติก่อนถึงจอประสาทตา
3. Index Myopia เกิดจากโรคประจำตัวบางชนิดโดยที่พบมากคือ โรคเบาหวาน เนื่องจากระดับน้ำตาลที่มีปริมาณกลูโคสในเลือดสูงทำให้ความดันในตามีการเปลี่ยนแปลงและส่งผลต่อดัชนีหักเหแสงที่เกิดขึ้นในตา ส่งผลให้แสงตกในจุดโฟกัสที่สั้นลง โดยมากจะพบในผู้สูงอายุ
ทั้งนี้ก็ยังมีสาเหตุที่ทำให้เกิดสายตาสั้นชนิดอื่นๆที่ควรรู้เช่นกัน เช่น
-สายตาสั้นกรรมพันธุ์ โดยมากจะพบตั้งแต่วัยเด็กและเมื่อโตขึ้นสายตาสั้นจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆและขึ้นค่อนข้างเร็ว
-สายตาสั้นกลางคืน เกิดจากการขยายตัวของรูม่านตาที่พยายามรับแสงที่มีปริมาณน้อยลงในเวลากลางคืน ทำให้จุดโฟกัสไม่ตกในจุดที่ควรจะเป็น
-สายตาสั้นเทียม เกิดจากการมองระยะใกล้หรือเพ่ง เช่น อ่านหนังสือ เป็นระยะนานเกินไป ทำให้เกิดการค้างของกล้ามเนื้อตาซึ่งต้องใช้ในระบบการเพ่ง ทำให้การมองระยะไกลพร่ามัวชั่วขณะ เมื่อเราหยุดเพ่งกล้ามเนื้อจึงเริ่มคลายตัวและมองเห็นได้ตามปกติ
วิธีการรักษาสายตาสั้น
การใช้แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ - วิธีการรักษาที่พบมากที่สุดคือการใช้แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ เพื่อช่วยให้การมองเห็นชัดเจนขึ้น แว่นตาสำหรับสายตาสั้นจะมีเลนส์เว้าช่วยแก้ไขการโฟกัสของแสงที่ตกก่อนถึงจอตา
การผ่าตัดเลสิก - การผ่าตัดเลสิก (LASIK) เป็นวิธีที่ช่วยแก้ไขปัญหาสายตาสั้นได้ถาวร โดยการเปลี่ยนรูปร่างของกระจกตาให้แสงโฟกัสตรงกับจอตา ทำให้ไม่ต้องพึ่งพาแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์
คำถามที่พบบ่อย (FAQs)
สายตาสั้นหายได้หรือไม่? สายตาสั้นสามารถรักษาได้ด้วยการใช้แว่นตา คอนแทคเลนส์ หรือการผ่าตัดเลสิก แต่ไม่สามารถหายขาดได้เอง
เด็กที่เล่นโทรศัพท์มือถือมากจะสายตาสั้นหรือไม่? การใช้โทรศัพท์มือถือนานๆ อาจเพิ่มความเสี่ยง แต่การพักสายตาเป็นประจำช่วยลดโอกาสการเกิดสายตาสั้นได้
การใส่แว่นตาทำให้สายตายิ่งแย่ลงหรือไม่? การใส่แว่นตาไม่ทำให้สายตาแย่ลง แต่ช่วยให้มองเห็นชัดเจนขึ้น
การผ่าตัดเลสิกปลอดภัยหรือไม่? การผ่าตัดเลสิกเป็นวิธีที่ปลอดภัยและได้รับความนิยม แต่ต้องทำกับแพทย์ที่มีประสบการณ์
ควรตรวจสายตาบ่อยแค่ไหน? ควรตรวจสายตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อประเมินความเปลี่ยนแปลงของสายตาและรับคำแนะนำจากแพทย์